ทรัพย์หลุดจำนอง – ขายฝาก ต้องทำยังไง ?

ทรัพย์หลุดจำนอง

ทรัพย์หลุดจำนอง – ขายฝาก ต้องทำยังไง ? เรื่องน่ากังวลใจอย่างหนึ่งสำหรับการทำจำนอง-ขายฝาก
คือเมื่อเจ้าของทรัพย์ไม่มาไถ่ถอนตามกำหนด จะทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า “ทรัพย์หลุด”
ซึ่งจะทำให้เจ้าของทรัพย์เสียสิทธิ์ในการครอบครองทรัพย์นั้นๆ ไป
ส่วนผู้รับจำนอง-ขายฝาก ที่มักจะเรียกกันว่า “นายทุน” เอง ก็สูญเสียเงินต้น
ต้องเสียเวลาไปเร่ขายทรัพย์นั้นๆ เพื่อนำเงินมาชดเชยเงินที่เสียไป

..“เจ้าของไม่อยากเสียทรัพย์
นายทุนไม่อยากได้ ไม่อยากเสียเวลาขาย”..

เมื่อไม่มีฝ่ายใดอยากให้เกิดปัญหานี้ขึ้น แล้วเราจะมีวิธีการจัดการกับมันอย่างไรบ้างล่ะ..?

 

สำหรับเจ้าของทรัพย์ (ผู้จำนอง-ผู้ขายฝาก)

เมื่อเราทราบแล้วว่า เรายังไม่พร้อมที่จะนำเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยมาไถ่ถอนได้ตามกำหนด
เราควรรีบหากทางแก้ไขสำหรับสถานการณ์นี้

สำคัญที่สุดคือเราต้องจำให้ขึ้นใจ จำให้แม่นยิ่งกว่าวันเกิดแฟนยิ่งกว่าวันสำคัญใดๆ
ว่าวันครบกำหนด “ไถ่ถอน” คือวันที่เท่าไหร่ จะได้วางแผนรับมือ ก่อนที่อะไรๆ จะสายเกินแก้ไข 

วิธีป้องกัน ทรัพย์หลุดจำนอง – ขายฝาก

  1. เจรจากับนายทุน – ควรรีบแจ้งสถานการณ์และความตั้งใจของเราให้นายทุนรับรู้
    ก่อนที่จะครบกำหนดไถ่ถอน เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยขั้นแรกเราสามารถ
    เจรจาขอ “ขยายเวลา” ไถ่ถอนได้ เพียงได้รับความยินยอมจากนายทุนเป็นลายลักษณ์อักษร
    ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานที่ดิน (**ห้ามสัญญากันปากเปล่าโดยเด็ดขาด อันตรายเด้ออออออ)
     
  2. ตัดใจขายทรัพย์ – การที่เราเป็นผู้ประกาศขายทรัพย์สินด้วยตนเองนั้น
    จะทำให้เราสามารถขายทรัพย์ออกไปในราคาสูงกว่าจำนวนเงินที่เราต้องไถ่ถอน
    แต่จะมากกว่าเท่าใดขึ้นอยู่กับความน่าสนใจของทรัพย์นั้นๆโดยเราสามารถขายทรัพย์ของเราออกไปได้ตามราคาที่ขายกันทั่วไปในตลาด
    หรือหากต้องการขายด่วนมากๆ เพราะใกล้วันไถ่ถอน ไฟลนก้นจนเริ่มไหม้มาถึงกางเกงในแล้ว
    ก็ยังสามารถขายในราคาที่ต่ำกว่าตลาดเล็กน้อย แต่ยังสูงกว่าจำนวนเงินที่เราต้องใช้ในการไถ่ถอนอยู่

    วิธีนี้เป็นวิธีที่เราค่อนข้างแนะนำ เพราะนอกจากจะไม่เสียทรัพย์ไปฟรีๆ แล้ว
    ยังได้ส่วนต่างเพื่อนำไปต่อยอด ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อีก

  3. หานายทุนใหม่ – แฟนเก่าเข้ากันไม่ได้ ไปกันไม่รอดยังต้องหาคนใหม่
    แล้วทำไมเราถึงจะเปลี่ยนนายทุนบ้างไม่ได้..?ทั้งนี้การเปลี่ยนนายทุนที่จะมารับช่วงต่อมีข้อจำกัดหลายอย่าง
    ขึ้นอยู่กับว่าวงเงินที่เราขอไว้กับนายทุนเก่ามันสูงจนถึงลิมิต
    ถึงเพดานราคาที่นายทุนส่วนใหญ่รับความเสี่ยงไหวแล้วหรือยัง

    นอกจากนี้แล้วการหานายทุนใหม่มา “เปลี่ยนมือ” ยังมีค่าใช้จ่าย
    ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่สำนักงานที่ดินตามมาไม่น้อย เพราะเปรียบเสมือนการเริ่มทำนิติกรรมใหม่
    ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ เราอยากแนะนำให้เจรจากับนายทุนเก่าให้ยอมขยายระยะเวลาไถ่ถอนเสียมากกว่า

    ซึ่งตรงจุดนี้ถือเป็นผลกรรมที่มาจากการกระทำของเราโดยแท้จริง ว่าที่ผ่านมาเราเป็นลูกหนี้ที่ดีหรือไม่
    ถ้าไม่เคยเงียบหนีหาย ยังคงติดต่อกับนายทุนและจ่ายดอกเบี้ยตรงเวลาสม่ำเสมอ
    เราเชื่อว่านายทุนส่วนใหญ่ก็คงไม่ใจร้ายเกินไป มักจะยินยอมให้ขยายระยะเวลากันได้จ้า

กรณีที่เจ้าหนี้หนี ไม่สามารถติดต่อได้มีบางกรณีที่เราต้องเจอกับเจ้าหนี้เจ้าเล่ห์
มาในคราบของนายทุนหน้าเลือด หวังเคลมทรัพย์ของเราไว้ซะเอง
ทั้งๆ ที่เจ้าของทรัพย์มีกำลัง มีความสามารถพอที่จะไถ่ถอนตามกำหนดได้
นายทุนประเภทนี้มักจะใช้วิธีตัดขาดช่องทางการติดต่อกับเรา
เพื่อไม่ให้เราสามารถไถ่ถอนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ทัน

หากเจอเหตุการณ์แบบนี้ อย่าเพิ่งลนหรือตกใจไป
ถ้าครบกำหนดแล้วเรามีเงิน เราไม่ต้องง้อเจ้าหนี้ก็ได้!!
เราสามารถเดินเชิ่ดๆ
นำเงินสินไถ่พร้อมด้วยสัญญาไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่
ณ สำนักงานวางทรัพย์ให้รับชำระหนี้แทนได้ ไม่ต้องเสียทรัพย์สินสุดรักไปแบบไม่เป็นธรรม

 

สำหรับนายทุน (ผู้รับจำนอง-ผู้รับฝาก)

จุดที่สำคัญมากๆ สำหรับนายทุนหรือเจ้าหนี้ คือต้องจำวันไถ่ถอนให้ขึ้นใจไม่ต่างกับเจ้าของทรัพย์
เพราะมีข้อแม้ที่เป็นข้อกฎหมายระบุไว้อยู่ว่า เจ้าหนี้ต้องทำหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้รับรู้
ก่อนครบกำหนดไถ่ถอน 60 วัน ว่าจะถึงกำหนดไถ่ถอนเมื่อไหร่ ต้องเตรียมค่าสินไถ่มาเป็นจำนวนเท่าใด 

**หากเจ้าหนี้ไม่ส่งจดหมายเตือนล่วงหน้า ตามกฎหมายจะขยายเวลาไถ่ถอนออกไปให้แบบอัตโนมัติอีก 6 เดือน !!

 

กรณีทรัพย์ หลุด ขายฝาก 

  • เมื่อเจ้าหนี้ทำตามเงื่อนไขครบถ้วน และถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนแล้ว
    เจ้าของทรัพย์ไม่มาไถ่คืน ทรัพย์นั้นจะตกเป็นของผู้รับรับฝากโดยทันที
    ไม่จำเป็นต้องทำการฟ้องบังคับคดีแต่อย่างใด
    สามารถนำไปขายเพื่อนำเงินมาทดแทนส่วนที่เสียไปได้เลย 

กรณี ทรัพย์หลุดจำนอง

  • แม้ว่าทรัพย์จะหลุดจำนองเพราะเลยกำหนดไถ่ถอนมาแล้วก็ตาม
    แต่เจ้าหนี้ไม่สามารถเดินดุ่มๆ ไปแขวนป้ายขายได้ทันที
    จะต้องทำการ “ฟ้องบังคับจำนอง” ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อยึดทรัพย์บังคับขายทอดตลาด
    โดยทรัพย์สินที่ยึดมานั้น ไม่ได้ยึดมาเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหนี้แต่อย่างใด
    แต่เป็นการบังคับขายเพื่อนำเงินมาชำระให้แก่เจ้าหนี้ผู้รับจำนองเท่านั้น

สุดท้ายนี้.. อย่าปล่อยให้ปัญหาบานปลายจนต้องมานั่งแก้ไขที่ปลายเหตุ
เรามาป้องกันให้ดี ลดความเสี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้กันดีกว่า

เจ้าของทรัพย์เมื่อรับเงินเขาไปแล้ว ก็ควรบริหารเงินให้ดีๆ
เตรียมความพร้อมสำหรับที่จะไถ่ถอนเอาไว้ล่วงหน้า หรือหากติดปัญหาไม่ไหวจริงๆ
ก็อย่าบอกว่าไหว ให้บอกไปตรงๆ แล้วรีบมาช่วยกันวางแผนแก้ปัญหากันตั้งแต่เนิ่นๆ 

ส่วนฝั่งนายทุนเองก็สามารถป้องกันด้วยการคัดทรัพย์ดีๆ เช็คราคาทรัพย์
ประเมินวงเงินที่ลูกหนี้ต้องการจำนอง ต้องการขายฝากให้ดีๆ ว่าตรงตามเงื่อนไขหรือไม่
ดูความสามารถในการสร้างรายได้ของลูกหนี้ ว่าจะสามารถหาเงินมาไถ่ถอนตามกำหนด
หรือมีแววว่าจะเงียบหายติดต่อไม่ได้อีกแล้วชีวิตนี้ จะได้ไม่มีปัญหาตามมาให้ปวดหัวกันทีหลังนั่นเอง

______________________________________________________________________

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ : https://propertyforcash.co/articles/

หรือ https://web.facebook.com/propertyforcashofficial/

Share

Articles - News Recommended