ขายฝากต้องระวัง อะไรบ้าง …

ขายฝากต้องระวัง
การลงทุน ขายฝาก เป็นการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูง แต่การที่ได้รับผลตอบแทนสูงนั้นมันก็ต้องมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงตามมาด้วยเช่นกัน
เพราะการขายฝาก  คือการให้บริการทางการเงิน ที่ใช้ทรัพย์สินเป็นหลักค้ำประกัน อนุมัติเงินไว และไม่ตรวจเช็คประวัติทางการเงินของผู้ขายฝาก
เพราะฉะนั้นมันก็จะเป็นความเสี่ยงของฝั่งผู้รับขายฝาก (นายทุน) ว่าผู้ที่มาขายฝาก จะสามารถจ่ายดอกเบี้ยตามที่ตกลงกัน
หรือนำเงินมาไถ่ทรัพย์คืนเมื่อครบสัญญาได้หรือไม่ แต่ไม่ใช่แค่ฝั่งผู้รับขายฝากเท่านั้นที่จะมีความเสี่ยง

ทางด้านเจ้าของทรัพย์ หรือผู้ขายฝากก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน แล้วมีความเสี่ยงใดบ้างล่ะ

วันนี้มาดูกันว่าสิ่งที่ ขายฝากต้องระวัง มีอะไรบ้าง


สิ่งที่ควรระวังสำหรับผู้รับขายฝาก (นายทุน)

ถ้าหากคุณเป็นนายทุนรายใหม่ มีเจ้าของทรัพย์และนายหน้ามากมายที่พร้อมจะไล่ล่าคุณเหมือนฝูงปลาปิรันย่า
มีสิ่งที่ต้องก็ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก หากคุณเพิ่งเริ่มเข้าวงการขายฝาก

  1. ราคาสูงเกินไป ผู้รับขายฝากต้องเช็คเรื่องราคาตลาดและตัวทรัพย์ที่นำมาขายฝากให้ดีๆ ให้ถี่ถ้วน
    เพราะหากไม่เช็คราคาตลาด และรับเข้ามาในราคาที่สูงเกินไป อาจจะทำให้ทรัพย์นั้นติดมือ และหากจะขายออกก็ต้องใช้เวลานาน
    ที่สำคัญผู้รับขายฝากต้องไปดูสถานที่จริงและอย่ายึดภาพที่ผู้ขายฝากหรือนายหน้าส่งมาให้เท่านั้น
    เพราะบางรายอาจไม่ได้ส่งรูปที่อัพเดทมาให้ หรือนายหน้าบางคนก็จงใจทำราคาขายฝากให้สูงกว่าความเป็นจริง
    ทำให้โอกาสที่ทรัพย์จะติดมือเราและขายไม่ออกนั้นมีสูงมากทีเดียว  
  2. เอกสารกรรมสิทธิ์ ผู้รับขายฝากต้องเช็คให้ดีๆว่า คนที่นำมาขายฝากนั้น เป็นเจ้าของทรัพย์ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตัวจริงหรือไม่
    หากมีการมอบอำนาจมา เราต้องเช็คว่าคนที่เป็นเจ้าของสิทธิ์นั้น เป็นคนมอบอำนาจมาจริงๆ
    ที่สำคัญเราต้องพูดคุยหรือเจอตัวกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ตัวจริงด้วยตนเอง แต่ทางที่ดีที่สุดที่จะลดความเสี่ยงในข้อนี้นั้น
    คือการให้เจ้าของทรัพย์ตัวจริงมาทำธุรกรรมที่สำนักงานที่ดินเอง 
  3. ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทน  ดอกเบี้ย (ในทางกฎหมายระบุว่าคือสินไถ่) ต้องมีอัตรา ไม่เกิน 15% ของมูลค่าเงินต้น
    เช่น วงเงินขายฝาก 1,000,000 บาท ราคาไถ่ถอนที่ระบุในสัญญาการขายฝากจะต้องไม่เกิน 1,150,000บาท หากรับเกินอัตราที่กำหนด อาจทำให้เราถูกฟ้องร้องเป็นคดีอาญาได้ 

 

สิ่งที่ควรระวังสำหรับผู้ขายฝาก (เจ้าของทรัพย์)

ในฝั่งผู้ขายฝากนั้น อาจดูเหมือนไม่ต้องระวังอะไรมากเพราะเราเป็นคนที่ไปเอาเงินนายทุนมา อย่า!!!! คิดแค่นั้นโดยเด็ดขาด เพราะสิ่งที่ต้องระวังมันก็มีนะ 

ก่อนอื่นผู้ขายฝากต้องรู้ก่อนว่า การทำขายฝากนั้น ทรัพย์ที่นำไปขายฝาก จะตกเป็นของผู้รับขายฝากทันที ณ วันที่ทำสัญญาขายฝากที่สำนักงานที่ดิน
แต่ผู้ขายฝากสามารถไถ่ถอนทรัพย์สินคืนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา เช่น หากทำสัญญาขายฝากมีระยะเวลา
1 ปี ผู้ขายฝากสามารถไถ่ถอนทรัพย์สินคืนได้
แต่ถ้าเลยกำหนดเวลาไปแล้ว ทางผู้ขายฝากยังไม่มีเงินต้นมาไถ่ถอน ก็สามารถเจรจาต่อรองกับผู้รับขายฝากเรื่องการขยายเวลาสัญญาขายฝากออกไป 

แล้วเรื่องที่ต้องระวังมีอะไรบ้าง ?

  1. นายทุนหวังยึดทรัพย์ แน่นอนว่าการที่เราตัดสินใจนำบ้าน นำที่ดิน นำอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ไปทำการขายฝาก
    มันหมายความว่าเราไม่ต้องการที่จะขาย ไม่ต้องการที่จะเสียทรัพย์นั้นไป เพียงแต่ต้องการเงินสดไปใช้ในยามฉุกเฉินเพียงเท่านั้น
    แต่ด้วยกฎหมายขายฝาก ที่มีช่องให้นายทุนหลายๆ คนหวังทำกำไรจากตรงนี้ บ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับชำระหนี้ ด้วยการตัดช่องทางการติดต่อ
    ไม่ให้เราติดต่อไปเพื่อทำการไถ่ถอนทรัพย์ได้ทันเวลา ทำให้เมื่อครบกำหนดแล้ว ทรัพย์นั้นจะตกเป็นของนายทุนทันทีแบบไม่จำเป็นต้องมีการฟ้องร้องใดๆ
    ซึ่งถ้าหากเจอกรณีแบบนี้ก็ไม่ต้องกังวลไป เราสามารถนำเงินสินไถ่ไปวางที่กรมบังคับคดีก่อนวันครบกำหนดสัญญา
    เพื่อไม่ให้ทรัพย์ของเราต้องตกเป็นของนายทุนอย่างน่าเจ็บใจ
  2. ตรวจสอบเงื่อนไข รายละเอียดในสัญญาให้ดี เป็นเรื่องง่ายๆ ที่มักจะพลาดกันหลายคน สำหรับรายละเอียดในสัญญาที่ไม่ตรงกับที่คุยกันไว้ในตอนแรก
    ในบางครั้งไม่ได้เกิดจากความตั้งใจโกง เพียงแต่เกิดจากความผิดพลาดในการใส่ข้อมูล แต่มันดันมีผลจริงตามกฎหมายนี่สิ!!
    ดังนั้นก่อนเซ็นสัญญาจึงต้องเช็คราคาขายฝาก ยอดที่ต้องไถ่ถอน และระยะเวลาการทำขายฝากให้ดีว่าตรงกับที่ได้มีการพูดคุยกันหรือไม่
  3. อย่าไว้ใจสัญญาลมปาก หากมีความจำเป็นต้องการขยายระยะเวลาไถ่ถอน ต้องทำสัญญาที่สำนักงานที่ดินเท่านั้น!!
    อย่าพูดคุยตกลงทางโทรศัพท์ หรือเซ็นสัญญาที่ร่างขึ้นกันเองเด็ดขาด เพราะทางกฎหมายแล้วเมื่อครบระยะเวลาขายฝาก
    จะถือว่าทรัพย์นั้นตกเป็นของนายทุนทันที เพราะฉะนั้นจึงต้องจำให้ขึ้นใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมใดๆ ต้องทำสัญญาที่สำนักงานที่ดินเท่านั้น อย่าไว้วางใจเพียงแค่สัญญาปากเปล่า

 

นายทุน ไม่อยากเสียเงิน ผู้ขายฝาก ไม่อยากเสียทรัพย์

ดังนั้นเราจะจำเป็นอย่างมากที่ต้องสิ่งที่ ขายฝากต้องระวัง จะได้ไม่เสียน้ำตาในวันที่สายไป..

 

สุดท้าย.. เรามาทำให้สังคมการ ขายฝาก ของเราน่าอยู่ ด้วยการเป็น นายทุน  ที่ดีมีจรรยาบรรณ เป็น นายหน้า ที่เห็นแก่ผลประโยชน์ของทุกฝ่าย
ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน เป็น เจ้าของทรัพย์ ที่น่ารัก ชำระดอกเบี้ยและไถ่ถอนตามกำหนด ตามที่ตกลงไว้ เงินและทรัพย์ของเราจะได้ปลอดภัยจากผู้ที่ประสงค์ร้ายกัน

______________________________________________________________________

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ : https://propertyforcash.co/articles/

หรือ https://web.facebook.com/propertyforcashofficial/

Share

Articles - News Recommended